Skip to content

บทความนี้ไม่ได้จะมาบอกว่าบอกว่าการรู้เรื่องโค้ดเป็นสิ่งไม่จำเป็นนะคะ แต่ตรงกันข้ามคือมัน จำเป็นมาก หากเราต้องการที่จะทำเว็บแบบเป็นอาชีพ แต่ WordPress นั้นจะถูกทำออกมาให้สามารถใช้งานง่ายสำหรับคนที่อยากทำเว็บไซต์ส่วนตัว แต่ไม่รู้เรื่องโค้ด สามารถที่จะทำเว็บเองได้เหมือนการไปซื้อของในตลาดมาทำกับข้าว เราอยากให้กับข้าวของเราออกมารสชาติแบบไหน หน้าตายังไง ก็ไปเลือกซื้อวัตถุดิบ แล้วมาปรุงแต่งให้ออกมาอย่างที่ต้องการ ดังนั้นเครื่องมือของ WordPress ไม่ว่าจะเป็นธีมหรือปลั๊กอินจึงได้มากตามไปด้วย

แต่หากเราเป็นคนที่ต้องการจะทำเว็บให้คนอื่นเป็นอาชีพ เราควรที่จะสามารถโค้ดเองให้เป็น เพื่อที่เวลาทำเว็บไซต์ให้ลูกค้านั้นจะได้ไม่ต้องผสมผสานเครื่องมือไปมากมาย เพราะคนทั่วไปที่ไม่ใช่คนที่ชอบเทคโนโลยีอยู่แล้ว เขาต้องการเพียงอะไรที่เรียบง่าย รวดเร็ว กรอกข้อมูลแล้วเผยแพร่ออกมาเป็นอย่างที่ต้องการได้เลย จะเห็นว่าแม้จะมีธีมและเครื่องมือที่ครบครันมากมาย แต่เราก็ยังจะเจอปัญหากับความยุ่งยากในการตั้งค่าต่างๆ อยู่เสมอ ยิ่งยืดหยุ่นมาก การตั้งค่าก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

วันนี้เราจะมาพูดถึงแง่มุมของผู้ใช้งานทั่วไปที่อยากจะจับ WordPress มาทำเว็บไซต์ด้วยตัวเอง ว่าเราจะต้องเตรียมตัวรับมือกับอะไรบ้าง

 1. เลือกธีมให้เหมาะกับเว็บที่จะทำ

สิ่งสำคัญเรื่องแรกในการทำเว็บด้วย WordPress ก็คือ การเลือกธีม นอกจากที่จะเลือกจากหน้าตาของธีมแล้ว ฟังชั่นการใช้งานต่างๆ ที่เขามีมาให้เป็นสิ่งที่เราต้องเชคอย่างละเอียด เพราะอย่าลืมว่าถ้าเราเขียนโค้ดไม่เป็น การจะเพิ่มหรือลดอะไรซักอย่างเข้าไปให้มันสวยงามดูดีเข้ากันนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย วิธีการเลือกธีมอันดับแรกเลยคือ เลือกตามหมวดหมู่ก่อน

mythemeshop-cat

จริงอยู่ที่ว่ามันไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่จะต้องเลือกธีมตรงกับหมวดหมู่เสมอไป เพราะเราสามารถที่จะอแด็ปส่วนต่างๆ ให้เข้ากับเนื้อหาของเราได้ แต่การเลือกธีมแบบนี้ก็จะยังต้องอยู่บนฟังชั่นการใช้งานพื้นฐานของเว็บที่เราต้องการจะทำอยู่ดี เว็บบล็อกสำหรับเขียนบทความทั่วไปอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะ WordPress นั้นมีความเป็นบล็อกเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว แต่หากใครจะทำเว็บที่เฉพาะด้านกว่านั้น เช่น eCommerce, Magazine, News, Travel ก็จะเหมาะกว่าที่จะเลือกธีมเฉพาะด้านนั้นๆ ไปเลย อย่างที่บอกว่าเครื่องมือพื้นฐานของเขาก็จะมีครบมากกว่า ธีมข่าวสามารถที่จะจัดแบ่งหมวดหมู่ข่าวต่างๆ ให้น่าสนใจได้ดีกว่า ธีมแฟชั่นมีความเรียบหรูโทนสีคลาสสิกแต่ส่งให้ภาพเสื้อผ้าและนางแบบดูโดดเด่น ธีมท่องเที่ยวเพิ่มแผนที่ให้เราสามารถปักหมุดยังจุดหมายต่างๆ ควบคู่ไปกับบทความได้ เป็นต้น ธีมเฉพาะด้านเหล่านี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเราได้มากโดยไม่ต้องไปปวดหัวกับการออกแบบอะไรมากมาย

แต่หากใครจะทำเว็บแนวบริษัท หรือครีเอทีฟที่เน้นการออกแบบเยอะๆ มีความเป็นเอกลักษณ์ ธีมแนว Page Builder จะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เพราะสามารถที่จะนำมาสร้างและออกแบบเว็บได้อย่างรวดเร็วและความสวยงามก็จะแปรผันตามความคิดสร้างสรรค์ของคนออกแบบล้วนๆ ธีมเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถที่จะลากวางนำส่วนประกอบต่างๆ มาจัดตามที่เราต้องการและปรับแต่งให้มีเอกลักษณ์มากขึ้น อันนี้เหมาะกับศิลปิน

avada-banner

ดังนั้นอยากให้ผู้อ่านค่อยๆ ใช้เวลาเลือก เปิดดู Demo ตัวอย่างในแต่ละหน้า ว่าเขามีอะไรมาให้บ้าง ในกรณีที่เราเขียนโค้ดไม่เป็นนั้นก็ต้องยอมรับว่า เหลือย่อมดีกว่าขาด

2. ใช้เวลากับการศึกษาการปรับแต่งธีมนั้นๆ

mythemeshop-general-settings

สิ่งแรกเลยหลังจากที่ติดตั้งธีม เราต้องไปที่ Theme Options และ Customize ก่อนเลย ทั้ง 2 เมนูนี้อยู่บนเมนูหลัก Apperance (รูปแบบบล็อก) เราจะได้เห็นความเป็นไปได้คร่าวๆ ว่าเราจะสามารถที่จะกำหนดเปิดปิดจัดวางอะไรตรงไหนได้ยังไงบ้าง ปกติแล้วแต่ละเมนูเขาก็จะมีคำอธิบายประกอบ ว่าการตั้งค่านี้เกี่ยวกับอะไร ดังนั้น ภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่เก่งภาษาแล้วจะทำไม่ได้เลย แค่เปิดดิกชันนารี่เดาๆ ความหมายเอา แล้วลองคลิกดู แล้วก็เปิดหน้าเว็บอีกหน้าควบไปด้วย เราจะได้รู้ว่า ถ้าเราทำแบบนี้ แล้วจะเกิดอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง อย่ากลัวที่จะลอง

แทบทุกธีมบนเว็บเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่า Document เจ้าสิ่งนี้แหละคือคู่มือที่จะทำให้เรารู้ว่าควรจะปรับแต่งอะไรตรงไหน ก็เป็นภาษาอังกฤษอีกเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่เขาก็จะมีทั้งภาพประกอบ บางที่ก็มีวิดีโอให้เปิดดูได้เลย ธีมฟรีที่เราติดตั้งผ่าน WordPress บนหลังบ้านเรานั้น ก็มีเว็บของคนเขียนธีมอยู่ หากกดดูรายละเอียดธีมเราก็จะสามารถไปยังเว็บหลักของเขาเพื่อที่จะดูคู่มือเหล่านี้ได้

divi-document

WordPress มีธีมและปลั๊กอินมากมายให้เราศึกษา ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น ธีมบางธีมที่เป็น Page Builder เช่น Avada, Divi, The7 พวกนี้ ถ้าเชี่ยวชาญมากพอก็สามารถทำเว็บออกมาได้แบบไม่จำกัดรูปแบบ สามารถสร้างเงินสร้างงานและอาชีพให้คุณได้

3. ปล่อยวาง

leaveit-or-fixit

ข้อนี้มาแปลก แต่มันคือเรื่องจริงที่ต้องปล่อยวางในบางครั้ง นี่คือเหตุผลที่ทำไม WordPress Theme ส่วนใหญ่จะมีการตั้งค่ายิบย่อยมากมาย เหตุผลของเขาก็เพื่อให้เราสามารถปรับแต่งได้เยอะที่สุด แต่หากจุดไหนที่มันไม่มี ไม่ได้เขียนมา หากเราเขียนโค้ดไม่เป็นเราก็ต้องปล่อยวางมันไป หากเราเลือกในข้อแรกมาดีแล้ว เราก็จะเจอกับเรื่องที่ต้องปล่อยวางน้อยลง เลือกแบบส่งๆ ก็อาจจะปวดหัวนิดนึง วิธีแก้คือข้อต่อไป

4. The Power of Community!

13411976_1440670845958952_1334135955684827_o

ข้อนี้จะมาช่วยให้เราไม่ต้องปล่อยวาง ทางออกในปัญหานั้นมีอยู่มากมาย อันดับแรกเลยคือ Support สิ่งที่หลายๆ คนไม่เห็นความสนใจ หน้าที่ของ Support ที่นอกเหนือจากจะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้แล้ว บางเจ้าก็ยังช่วยปรับแต่งในส่วนที่เราต้องการได้ด้วย แต่ไม่ใช่ปรับแต่งแบบเหมือนจ้างเขามาทำให้นะคะ เขาจะยินดีช่วยเหลือในการปรับแต่งโค้ดของเขา เช่น ปรับแต่งธีมเอาส่วนที่เราไม่ต้องการออไป แต่ไม่มีใน Theme Options เขาก็จะช่วยเหลือเรา หากเป็นปลั๊กอิน ส่วนใหญ่ก็อาจจะเกี่ยวกับการทำงานไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็นเพราะว่าอาจจะไปมีปัญหากับส่วนอื่นๆ ในเว็บ เป็นต้น

Community สิ่งนี้เองที่ทำให้ WordPress มีคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีชุมชนผู้ใช้งานขนาดใหญ่ และเป็นกลุ่มก้อนกัน ก่อให้เกิดการแบ่งปันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตั้งแต่คนใช้งานทั่วไป เว็บดีไซน์เนอร์ โปแกรมเมอร์ ฯลฯ

กลุ่มของคนทำเว็บ WordPress ในประเทศไทยที่ค่อนข้างแอคทีพและมีคนให้คำปรึกษาดีเลยทีดีเลยทีเดียว https://www.facebook.com/groups/wpalliance/ และมีการจัด WordPress Meet up ทุกเดือนอีกด้วย

wp-thai-group

ธีมบางธีมเช่น Divi ก็มีกรุ๊ปที่มีสมาชิกนับหมื่นเลยทีเดียวเพราะมีคนใช้งานจากทุกประเทศ ซึ่งก็ยังแตกกลุ่มออกไปอีกหลายกลุ่ม ดังนั้นเราสามารถที่จะใช้จุดเด่นในเรื่อง Community ของ WordPress ในการแก้ไขปัญหาได้ และบางทีก็มักจะได้รับมิตรภาพดีๆ จากคนที่ชอบในสิ่งเดียวกันด้วย เราก็อาศัยเรียนรู้จาก Support และ Community เหล่านี้ได้เช่นกัน You’ll Never Walk Alone

ถ้าหากเป็นไปได้ ก็อยากให้ทุกคนหัดเรียนรู้โค้ดโดยเฉพาะ CSS ได้ใช้ประโยชน์แน่นอนค่ะ
Back To Top
Search