Skip to content

Hosting

จริงๆ แล้วโฮ้สต์นั้นมีหลายประเภท แต่จะขอแนะนำประเภทหลักๆ ที่นิยมใช้กับ WordPress กันมากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งโฮ้สต์ก็คือเซิฟเวอร์ที่เราติดตั้งระบบและไฟล์ของเว็บไซต์ของเรานั่นเอง

1. Share Hosting

โฮ้สต์ประเภทนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากราคาไม่แพงมาก และได้เครื่องที่ค่อนข้างแรง แต่ข้อเสียของโฮ้สต์ประเภทนี้ก็ตามชื่อ เป็นการแชร์ทรัพยากรกันระหว่างเว็บหลายๆ เว็บบนเซิฟเวอร์เดียวกัน​ ซึ่งมักทำให้เกิดปัญหาการแย่งกันใช้งานทรัพยากร Memory, CPU ต่างๆ ถ้าโฮ้สต์มีการจัดการทรัพยกรไม่ดีก็อาจจะทำให้เว็บเราช้าหรือล่มได้ โฮ้สต์ประเภทนี้จึงอาจจะมีการหยุดการใช้งานของบางเว็บถ้าระบบเห็นว่าเว็บของเรากินทรัพยากรมากเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับเว็บอื่นๆ ในเซิฟเวอร์เดียวกัน บางที่อาจจะจำกัดเป็นปริมาณแบนด์วิดท์ก็มี แต่ถึงแม้จะบอกว่า Unlimited แต่ถ้าเราใช้งานหนักเนื่องจากปลั๊กอินหรือธีมบางตัว ก็อาจจะทำให้ผู้ให้บริการพักการใช้งานโฮ้สต์ของเราได้ การแก้ปัญก็อาจจะอัพเกรดขึ้นเป็นแบบที่แพงกว่าเดิม ในกรณีที่เซิฟเวอร์มีช่องโหว่โดนเจาะหรือโดนไวรัสก็อาจจะทำให้เว็บในเซิฟเวอร์ติดไวรัสไปด้วยกันได้

Share Hosting มักจะมาพร้อมกับ Control Panel ที่เป็นที่นิยมอย่าง DirectAdmin หรือ cPanel และส่วนใหญ่จะสามารถติดตั้ง WordPress แบบอัตโนมัติได้เลย

ข้อดี

  • ราคาไม่แพง ส่วนใหญ่เป็นการใช้งานรายปี
  • มี Control Panel ให้ สะดวกในการใช้งาน
  • คนดูแลเซิฟเวอร์ให้ ช่วยเหลือในกรณีที่มีปัญหา
  • ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการปรับแต่งเซิฟเวอร์

ข้อเสีย

  • เป็นการแชร์การใช้งานทรัพยกรกับเว็บอื่นๆ ทำให้อาจจะได้รับผลกระทบด้วยกันได้
  • หลายที่มีการตั้งค่าเซิฟเวอร์แบบฟิกไว้แล้วเพื่อให้ใช้งานสำหรับทั่วไป อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระบบบางอย่างเพื่อเว็บเราเว็บเดียวได้
  • การอัพเดตต่างๆ ต้องรอให้ทางผู้ให้บริการทำให้เท่านั้น ซึ่งมักจะเปลี่ยนกันทั้งเซิฟเวอร์ ทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้บ่อยๆ

แนะนำ : Ruk-Com , Hostatom, P&T Hosting

2. VPS Cloud Hosting

จริงๆ แล้ว VPS (Virtual Private Server) นั้นเป็น Hosting ประเภทหนึ่งที่จำลองเซิฟเวอร์ส่วนตัวให้เราใช้งาน โดยการนำเซิฟเวอร์มาติดตั้งโปรแกรมที่ทำให้จัดสรรทรัพยากรออกเป็นลูกๆ แบบเสมือน เพื่อให้ลูกค้าแต่ละคนเช่า แต่แทนที่จะเป็นการนำเอาเซิฟเวอร์ตัวเดียวมาแบ่งเป็นหลายๆ ลูก Cloud Hosting ก็ใช้เซิฟเวอร์หลายๆ เครื่องมาเชื่อมต่อกันแล้วจัดสรรทรัพยากรแบ่งเป็น VPS หลายๆ ลูกอีกที เซิฟเวอร์แบบนี้มีข้อได้เปรียบอย่างมากในกรณีที่หากเซิฟเวอร์เครื่องหนึ่งเสียหาย ระบบก็ยังคงทำงานได้อยู่ เพราะเป็นการเชื่อมต่อเซิฟเวอร์หลายๆ เครื่องเข้าด้วยกันจึงทำให้ใช้พลังงานของเครื่องอื่นๆ ทำงานต่อไปได้ ดังนั้นจึงเปรียบได้เสมือนก้อนเมฆที่เกิดจากการระเหยของละอองน้ำจำนวนมากขึ้นสู่ท้องฟ้าตลอดเวลา

ข้อดี

  • มีความยืดหยุ่นสูงและปรับสามารถปรับเปลี่ยนสเปคของเซิฟเวอร์ที่ต้องการได้ง่าย
  • ราคาไม่แพงมาก เพราะเป็นการใช้ฟาร์มเซิฟเวอร์ขนาดใหญ่มาแบ่งขายจึงทำให้ราคาถูกลง
  • สามารถเลือกที่ตั้งหรือ Location ของเซิฟเวอร์ได้หลายที่ทั่วโลก เนื่องจากเว็บจะโหลดได้เร็วขึ้นเมื่ออยู่ใกล้กับกลุ่มเป้าหมายของเรามากที่สุด

ช้อเสีย

  • ส่วนใหญ่เป็นบริการของต่างประเทศที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ ซึ่งทำให้มีราคาถูก ยังไม่ค่อยมีของคนไทยมากนัก (แต่ก็มีบริษัทของคนไทยที่นำพื้นที่ของ Cloud ต่างประเทศมาให้บริการเป็นโฮ้สต์สำหรับคนไทยเหมือนกัน)

เนื่องจาก Cloud Hosting นี้มักจะมี API ให้ใช้งานด้วย ปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายเจ้าสร้างระบบที่ช่วยให้เราสามารถติดตั้งและตั้งค่าเซิฟเวอร์พร้อมกับติดตั้ง WordPress ได้โดยอัตโนมัติให้ด้วย ซึ่งทำให้เราสามารถใช้ Cloud Hosting ยอดนิยมทั้งหลายได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในการติดตั้งเซิฟเวอร์ใดๆ เช่น Cloudways, ServerPilot เป็นต้น

แนะนำ : Ruk-Com , DigitalOcean, Amazon Web Service, Google Cloud, Linode, Vultr, Kyup

  • Cloudways ซึ่งสามารถติดตั้งและใช้งาน WordPress บน Cloud Hosting ด้านบนได้ง่ายมากๆ การใช้งาน Cloudways กับ DigitalOcean
  • ServerPilot ติดตั้ง WordPress บน Cloud Hosting ต่างๆ ได้ฟรี เสียเฉพาะหากต้องการใช้ SSL ต้องเปลี่ยนเป็นแพลน $10 ที่เหลือแล้วแต่ว่าเราจะใช้ Cloud Hosting เจ้าไหน ราคาเท่าไหร่ ก็จ่ายแยกต่างหากที่ผู้ให้บริการเลย การใช้งาน ServerPilot กับ DigitalOcean

3. WordPress Hosting

WordPress Hosting หรือ Manage WordPress Hosting นั้นอาจจะเป็นได้ทั้งแบบ Share Hosting หรือแบบที่เป็น VPS/Cloud Hosting โดยจุดประสงค์หลักๆ ที่ทำให้เกิด Hosting ประเภทคือเป็นการปรับแต่งและตั้งค่าเซิฟเวอร์เพื่อให้ใช้งาน WordPress ได้ดีที่สุด เช่น การใช้เวอร์ชั่น PHP รุ่นใหม่ๆ การติดตั้งระบบแคชต่างๆ เพื่อให้เว็บรับทราฟฟิคได้เยอะๆ และทำงานได้เร็วขึ้น WordPress Hosting ในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นแบบ Share Hosting ที่นำมาปรับแต่งสำหรับใช้งาน WordPress และยังคงใช้ร่วมกับ Control Panel อย่าง DirectAdmin เหมือนเดิม ส่วนของต่างประเทศที่เป็นเจ้าใหญ่ๆ นั้น มักจะพัฒนาระบบเฉพาะขึ้นมาเอง รวมทั้ง Control Panel ต่างๆ ก็พัฒนามาเพื่อใช้สำหรับ WordPress โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ข้อดี

  • ระบบที่ปรับมาสำหรับ WordPress โดยเฉพาะ
  • มีระบบ Control Panel สำหรับ WordPress ที่พัฒนาเองต่างหากให้ใช้งานได้ง่าย
  • มีฟังชั่นเสริมต่างๆ ในตัว เช่น ระบบแคช, CDN, Staging site เป็นต้น
  • มี Support ที่ชำนาญเกี่ยวกับ WordPress โดยตรงไว้คอยช่วยเหลือ

ข้อเสีย

  • ราคาแพงกว่าโฮ้สต์ปกติทั้งแบบที่เป็น Share Hosting และแบบ VPS
  • ยังมีผู้ให้บริการไม่มากนัก

แนะนำ : Ruk-Com, Siteground, Kinsta, Flywheel,WPEngine

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการเลือก Hosting สำหรับ WordPress

การเลือกโฮ้สต์สำหรับ WordPress นั้น จริงๆ แล้ว Share Host ทั่วไปก็ใช้งานได้ แต่คุณสมบัติต่างๆ ด้านล่างนี้ถ้ามีเยอะก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

1. PHP

จริงอยู่ที่ WordPress สามารถที่จะรันได้ตั้งแต่ PHP 5.2.4 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากการใช้งานในปัจจุบันนั้น PHP 7.0+ ในหน้า Requirements ของ WordPress แนะนำใช้ 7.2 ขึ้นไปเลยทีเดียว เนื่องจาก PHP เวอร์ชั่นใหม่ๆ นั้นจะปลอดภัยกว่า เร็วกว่า มีฟังชั่นใหม่ๆ มากกว่า ดังนั้นปลั๊กอินต่างๆ ก็พยายามจะพัฒนาเพื่อใช้งานกับ PHP เวอร์ชั่นใหม่มากขึ้น และจะเลิกสนับสนุนสำหรับ PHP เวอร์ชั่นเก่าๆ ซึ่งทำให้เว็บที่ใช้ PHP เวอร์ชั่นเก่าๆ มีปัญหาตามไปด้วย

Hosting ที่เป็น WordPress Hosting ส่วนใหญ่นั้นมักจะมีเวอร์ชั่นของ WordPress ให้เราเลือกได้เองด้วย

WordPress
Img src: Kinsta

Tweet จาก Josh Pollock ผู้พัฒนาปลั๊กอิน Caldera Form เลิกสนับสนุน PHP 5.5 และเมื่อพัฒนาเป็นเวอร์ชั่น 2 จะเลิกใช้ PHP 7.0 และ 5.6 ด้วย!

2. Nginx Server

เซิฟเวอร์ที่เป็น Nginx นั้นจะรองรับข้อมูลและเร็วและมากกว่าเซิฟเวอร์ที่ติดตั้งเพียงแค่ ​Apache ทั่วไปอย่างเดียว

3. SSL

SSL คือ การเข้ารหัสข้อมูลที่ส่งผ่านกันทางเว็บ เช่น การกรอกฟอร์มต่างๆ ที่มีข้อมูลที่เราต้องกรอกอย่าง บัตรเครดิต รหัสผ่าน หมายเลขผู้เสียภาษี ที่อยู่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถดักได้โดยมิจฉาชีพ ดังนั้น Google จึงประกาศให้เว็บทุกเว็บต้องใช้การเข้ารหัสข้อมูล SSL นี้ โดยก็คือการทำเว็บให้เป็น https:// แทน http:// แบบเดิม ซึ่งหากเราไม่ทำเป็น https:// Google Chrome จะทำการแจ้งเตือนว่าเว็บเราไม่ปลอดภัย โดยจะเริ่มเป็นทางการในเดือน กรกฎาคม 2561 นี้ และเราควรใส่ใจเพราะว่า Chrome เป็นบราวเซอร์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งเราควรหาโฮ้สต์ที่มี SSL ฟรีของ Let’s Encrypt ให้ใช้บริการได้ฟรี นอกจากนี้ โฮ้สต์ที่เปิดให้ SSL ก็ควรที่จะเปิดใช้ความสามารถ HTTP/2 ได้ด้วย

4. Auto Install

ระบบติดตั้ง WordPress อัตโนมัติ ใน Share Hosting ส่วนใหญ่มักจะใช้ Softaculous และ Inw install สำหรับโฮ้สต์ไทย ซึ่งแต่ละที่ก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยให้เราติดตั้งสคริปต์ทำเว็บอัตโนมัติต่างๆ รวมถึง WordPress ด้วย ทำให้ไม่ต้องทำขั้นตอนการติดตั้ง อัพโหลด สร้างดาต้าเบสยุ่งยาก

5. Backup

ปกติแล้ว Share Hosting และ Manage WordPress Hosting นั้นจะมีแบคอัพอัตโนมัติให้เราอยู่แล้ว จะต่างกันในความถี่ของการแบคอัพ นอกจากการแบคอัพของโฮ้สต์แล้ว เราก็ควรทำแบคอัพเองด้วยปลั๊กอินของ WordPress ด้วย

6. Security

ควรมีระบบความปลอดภัย เช่น Firewall ที่อัพเดตสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยป้องกันการโจมตีจากแฮคเกอร์ เนื่องจาก WordPress นั้นเป็นเป้าโจมตีอยู่แล้วเพราะเมื่อมีคนใช้มาก ก็ย่อมเป็นเป้าหมายของการโจมตีมากเป็นธรรมดา Hosting เกรดพรีเมี่ยมบางเจ้า เช่น Kinsta จะมีระบบ Security มากเป็นพิเศษ เช่น DDos Protection, Malware Scanner, Hack guarantee ที่ช่วยแก้ไขถ้าเว็บโดนแฮค

7. Caching

การแคชชิ่งระดับเซิฟเวอร์ช่วยเว็บรับทราฟฟิคได้ปริมาณมากกว่าเดิมและเร็วกว่าเดิม ต่างจากการพึ่งพาระบบแคชของ PHP จากปลั๊กอินของ WordPress อย่างเดียว ซึ่งถ้ามีระบบแคชระดับเซิฟเวอร์ด้วยก็จะดีมาก โดยเฉพาะเว็บ eCommerce หรือเว็บที่ใช้ปลั๊กอินบางตัวที่อาจจะทำให้โหลดช้า Hosting ส่วนใหญ่อาจจะมีแคชอย่าง Memcached, Varnish, Redis, PHP-FPM หรือระบบที่เขาพัฒนาขึ้นมาเองก็มีเช่นกัน

8. Staging site

ส่วนใหญ่ในไทยยังไม่ค่อยมีโฮ้สต์ไหนที่พัฒนาระบบนี้ขึ้นมา แต่ของต่างประเทศจะมีหลายเจ้า คือการสร้าง Staging site ที่เป็นเหมือนการโคลนนิ่งเว็บไซต์ของเราอีกเว็บเพื่อทำการทดลองอัพเดตธีมและปลั๊กอินต่างๆ ก่อนการใช้งานจริงบนเว็บหลัก หรืออาจจะใช้ในการพัฒนาเว็บให้เสร็จก่อนการเผยแพร่เป็นเว็บหลักจริงๆ ก็ได้

9. Storage

พื้นที่สำหรับการจัดเก็บไฟล์ แต่ละโฮ้สต์ก็จะเสนอพื้นที่สำหรับจัดเก็บไฟล์ให้ในขนาดที่ต่างกันไป เราสามารถที่จะเลือกหรือเปรียบเทียบหลายๆ แห่งตามขนาดที่เราต้องการใช้หรือคาดการณ์ว่าเว็บจะมีขนาดแค่ไหนในอนาคต โดยอาจจะเริ่มจากเล็กๆ ก่อนก็ได้ เพราะตัว WordPress เองนั้นไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก แต่จะโตเพราะข้อมูลจำพวกไฟล์ภาพต่างๆ และไฟล์แบคอัพก็รวมด้วย สำหรับ VPS Cloud Hosting ส่วนใหญ่นั้น เราสามารถที่จะอัพเกรดพื้นที่ รวมไปถึงซีพียู และแรมได้เองตลอดเวลา

10. Support

Support คือ คนที่จะคอยช่วยเหลือเราเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ ปกติแล้ว Hosting ส่วนใหญ่จะให้เราเปิด Ticket เพื่อส่งข้อความแจ้งเมื่อมีปัญหาแล้ว Support ก็จะทำการแก้ไขปัญหาให้เรา แต่ในบางที่จะมีบริการที่เป็น Live Chat หรือแม้แต่ Messenger เช่น Line หรือ Facebook Group ในบ้านเราก็มีเช่นกัน

โดยส่วนใหญ่จะช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเซิฟเวอร์ ดังนั้นอาจจะไม่ได้ให้การช่วยเหลือในกรณีที่เกี่ยวกับการปรับแต่งตั้งค่าต่างๆ ของ WordPress ซึ่งเป็นส่วนที่เราต้องรับผิดชอบเอง ซึ่ง Support แต่ละที่ก็จะมีความชำนาญ WordPress แตกต่างกัน การโต้ตอบและรับมือกับลูกค้าต่างกัน ซึ่ง Support นี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถึงแม้โฮ้สต์ดี แต่ถ้ามีปัญหาแล้ว Support ไม่ดี พูดจาไม่ดี แก้ปัญหาช้า ก็ควรพิจารณาย้ายโฮ้สต์เมื่อสิ้นสุดสัญญาได้เลย ตัวเลือกมีเยอะค่ะ ไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้เป็นพระเจ้า แต่เราก็ควรได้รับการปฏิบัติที่คู่ควรเหมาะสมเช่นกัน

11. Bandwidth

หรือ ปริมารการรับส่งข้อมูล หรือ Site Traffic แล้วแต่จะเรียก ซึ่งแต่ละเจ้านั้นจะกำหนดให้ไม่เท่ากัน ส่วน Share Hosting ที่บอกว่า Unlimited นั้น ถ้าเว็บเรามีคนเข้าเยอะ จนทำให้ใช้งาน CPU หรือ Memory มากเกินไป เว็บเราก็อาจจะโดน Suspended หรือหยุดการทำงานชั่วคราว ถึงระดับไล่ออกได้ นั่นก็เพื่อการรักษาระบบส่วนรวมไม่ให้เว็บอื่นล่มไปกับเราด้วยนั่นเอง เราควรพิจารณาดูว่าทราฟฟิคต่อเดือนของเราน่าจะมีมากขนาดไหน ทั้งนี้เราอาจจะใช้ CDN อย่าง CloudFlare เพื่อช่วยในการเป็นแคชและลดการใช้งานแบนด์วิดท์จากโฮ้สต์ของเราได้

12. Site migration

Migration คือ การย้ายเว็บไซต์ ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถทำได้เองด้วยปลั๊กอินง่ายๆ อย่าง All In One WP Migration แต่โฮ้สต์ส่วนใหญ่ก็มักจะมีบริการย้ายข้อมูลฟรีสำหรับคนที่ต้องการใช้บริการโดยการย้ายข้อมูลจากโฮ้สต์เดิมให้เราด้วย

Domain

นอกจาก Hosting แล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้นั่นก็คือ โดเมน ที่จะใช้ในการเป็นชื่อเว็บของเราเพื่อเชื่อมต่อกับ Hosting ที่จะมีลักษณะเป็น IP Address เช่น 150.61.7.154 เป็น wpthaiuser.com เป็นต้น

ปกติแล้วเราสามารถที่จะเช่าโดเมนพร้อมกับโฮ้สต์ได้เลยถ้าเราสร้างเว็บใหม่ เพราะมันสามารถคิดรวมเป็นแพคเกจเดียวกันที่พร้อมเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติได้ทันที แต่หากเราย้ายโฮ้สต์ใหม่ เราก็อาจจะใช้โดเมนกับโฮสต์แยกกันผ่านผู้ให้บริการคนละเจ้าได้ หรือทำการโอนโดเมนไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้เช่นเดียวกัน ผู้ให้บริการเช่าโดเมนโดยเฉพาะที่เป็นที่นิยม เช่น  Name.com, Namecheap.com, Godaddy.com หรือผู้ให้บริการในไทยเช่น Ruk-Com เป็นต้น

Back To Top
Search